วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

เปิดตำนาน"ไม้จันทน์หอม" อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าหายาก จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ใช้ในงานพระราชพิธีนับตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล นอกจากนี้ยังพบประวัติการใช้ไม้หอมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับแต่บุคประวัติศาสตร์ตอนต้นสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
    ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  การจัดสร้างพระโกศปรากฏชื่อ  ไม้จันทน์หอม  ไม้มงคลชั้นสูงใช้ในงานพระราชพิธีที่มีมาแต่ครั้งโบราณยุคพุทธกาล



    จากข้อมูลอุทยานแห่งชาติกุยบุรี  สำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3  สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  รวมทั้งเอกสารเผยแพร่ให้กับนักเรียนนายร้อย จปร.ที่พระตำหนักวังสวนปทุมซึ่งกล่าวถึงความน่าสนใจของไม้ชนิดนี้ว่า  ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ที่มีค่าหายากชนิดหนึ่ง  จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูงใช้ในงานพระราชพิธีมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล  กล่าวคือ  มักจะใช้จตุชาติสุคนธ์ คือ ของหอมจากธรรมชาติ 4 อย่างได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กระลำพัก จันทน์หอมและดอกไม้หอม  ประพรมในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีมงคลถวายพระนามเจ้าชายสิทธัตถะในปฐมวัยและตอนที่เหล่ากษัตริย์เพื่ออันเชิญพระหีบน้อยที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเข้าประดิษฐาน

    และแม้แต่ในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.942-957) จดบันทึกพระไตรปิฎกในประเทศอินเดียและสิงหลกล่าวถึงการฌาปนกิจศพพระอรหันต์องค์หนึ่งโดยถูกต้องตามขนบธรรมเนียมในพระวินัยมีการสร้างกองฟืนขนาดใหญ่มีส่วนกว้างเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมกว่า 30 ศอก มีความสูงดุจเดียวกัน ตอนใกล้ยอดวางลำดับด้วยไม้มีกลิ่นหอมชนิดอื่น

    นอกจากนี้ยัง  พบประวัติการใช้ไม้หอมในประเทศไทยสืบเนื่องยาวนานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นมาจนสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งระบุในใบส่งสินค้าในจดหมายเหตุพบครั้งที่เป็นเครื่องหมายบรรณาการที่สำคัญอีกด้วย

    ข้อสำคัญไม้จันทน์หอมนี้จำเป็นต้องใช้ไม้จันทน์หอมที่ ตายพราย หมายถึง  การยืนต้นตายจะตัดโค่นก่อนไม่ได้ เพราะจะไม่มีกลิ่นหอมในระดับที่ใช้งานได้ ต้องใช้ไม้จันทน์หอมตายพรายเท่านั้น แต่จะต้องทำพิธีขอจากรุกขเทวดาโดยพราหมณ์อ่านโองการและตัดตามฤกษ์ดีเท่านั้น

    ส่วนพื้นที่ที่สำรวจพบไม้จันทน์หอมที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี  และป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี  ตำบลหาดขาม  อำเภอกุยบุรี  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไม้จันทน์หอมตามธรรมชาติ  พบขึ้นหนาแน่น  เป็นหมู่ไม้ขนาดใหญ่และจากลักษณะต้นไม้จันทน์หอมที่พบยืนต้นตายตามธรรมชาติ (ตายพราย) โดยได้พิจารณาจากลักษณะไม้ที่มีเนื้อหอม  เนื้อไม้แกร่ง  คุณภาพดี  เปลาตรง  และมีขนาดเหมาะสมตามที่กรมศิลปากรต้องการ  ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรีจึงได้คัดเลือกไม้จันทน์หอมเพื่อใช้ในพระราชพิธีจำนวน 3 ต้น  ได้แก่  ต้นแรกมีเส้นรอบวง 170 ซ.ม. สูง 6 เมตร เนื้อไม้แก่นสีดำ มีกลิ่นหอม, ต้นที่ 2  มีเส้นรอบวง 100 ซ.ม. สูง 5 เมตร เนื้อไม้แก่นสีดำ มีกลิ่นหอมมาก และต้นที่ 3มีเส้นรอบวง 117 ซ.ม.เนื้อไม้แก่นสีเหลือง มีกลิ่นหอม



    จากไม้มงคลชั้นสูงซึ่งครบพร้อมด้วยคุณค่าจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะได้เนื้อไม้ดังกล่าวมาสร้างพระรองประดับพระโกศพระบรมศพ พระศพ ตลอดจนใช้ทำฟืนและดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระศพ  อีกทั้งดอกไม้จันทน์ดอกไม้ประดิษฐ์ซึ่งเดิมทำจากไม้จันทน์แท้ๆ



    ยังเป็นอุทาหรณ์เตือนสติให้ทำแต่สิ่งดีงามเมื่อยังมีโอกาส เมื่อล่วงลับไปแล้วคุณความดีจะได้ขจรขจายเหมือนกลิ่นหอมอันเป็นมงคลที่เป็นอมตะ  มิรู้เสื่อมคลาย


แหล่งข้อมูล ; เดลินิวส์ วาไรตี้ "เล่าเรื่องไม้จันทน์ สู่ไม้หอมเครื่องบรรณาการ" 31 ม.ค.51

คำค้นหา  :  อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,ช้างป่ากุยบุรี , กระทิงอุทยานแห่งชาติกุยบุรี , เสือโคร่งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี,จองบ้านพักอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,ช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี,ดูนกอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,แผนที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,เที่ยวกุยบุรี ,แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันะธุ์ ,  kuiburi national park เที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรี,กุยบุรีซาฟารีเมืองไทย,น้ำตกดงมะไฟอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,อำเภอกุยบุรี ,กุยบุรีโมเดล ,ชมรมรักษ์ กระทิงไทย